วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง เผื่อเราเจอสถานการณ์คับขัน มีโอกาสได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุกชีวิตจะได้ปลอดภัย
วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง เผื่อเราเจอสถานการณ์คับขัน มีโอกาสได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุกชีวิตจะได้ปลอดภัย
วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยให้รอดชีวิต
มาดูวิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง เผื่อเราเจอสถานการณ์คับขัน มีโอกาสได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุกชีวิตจะได้ปลอดภัย
การทำ CPR คือวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ช่วยคืนชีวิตแก่ผู้ประสบเหตุมานักต่อนัก ดังนั้นขั้นตอนการทำ CPR ที่ถูกต้องจึงควรเป็นความรู้ที่น่าจะติดตัวเราทุกคนไว้บ้าง เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และอาจมีบางสถานการณ์ที่เราต้องพบเห็นผู้ประสบเหตุหมดสติ หัวใจหยุดเต้น เช่น คนจมน้ำ คนถูกไฟดูด สูดดมก๊าซพิษ ควันพิษ ช็อกเพราะเสียเลือดมาก หรือผู้ประสบเหตุที่หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะจากสาเหตุอื่น ๆ ก็ตาม ดังนั้นหากเรามีโอกาสและความรู้พอที่จะช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์หรือแม้กระทั่งคนใกล้ตัวได้
Cardiopulmonary Resuscitation หรือเรียกง่าย ๆ ว่า CPR คือ การปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ และมีการไหลเวียนออกซิเจนรวมทั้งเลือดกลับคืนสู่สภาพเดิม พร้อมทั้งป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร โดยเราสามารถทำการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานให้ผู้ประสบเหตุได้โดยการกดหน้าอกและช่วยหายใจ
ทั้งนี้ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดได้จากการเป็นโรคหัวใจ, ออกกำลังกายมากเกินไป, ตกใจหรือเสียใจกะทันหัน, จากการสูญเสียเลือดมาก, เลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่ทัน, ทางเดินหายใจอุดกั้น รวมทั้งอาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาดหรือแพ้ยา
ดังนั้นจึงมีการบัญญัติ "ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต" (Chain of Survival) เพื่อเป็นหลักการช่วยฟื้นคืนชีพแนวทางเดียวกันทั่วโลกและเป็นข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติ ประกอบด้วย
1. การประเมินผู้ป่วยว่ายังรู้สึกตัวอยู่หรือไม่ หากไม่มีสติ คลำหาชีพจรไม่พบ ควรเรียกขอความช่วยเหลือหรือเรียกบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากหน่วยงานต่าง ๆ ทันที เช่น ศูนย์เอราวัณ (เฉพาะในพื้นที่ กทม.) โทร. 1646, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669 (ทั่วประเทศ)
2. การกดหน้าอกอย่างถูกต้องและทันท่วงที (ทำ CPR)
3. การทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจ (AED) ภายใน 3-5 นาที เมื่อมีข้อบ่งชี้
4. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงอย่างมีประสิทธิภาพ
5. การดูแลภายหลังการช่วยฟื้นคืนชีพ
สำหรับอาการของผู้บาดเจ็บที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยการทำ CPR สามารถสังเกตได้ดังนี้
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
2. ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก
3. หัวใจหยุดเต้น
การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support: BLS)
แนวทางการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญ โดยแต่เดิมมีคำแนะนำให้ทำตามลำดับ A-B-C (Airway-Breathing-Circulation) แต่ปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงลำดับขั้นตอนเป็น C-A-B (Chest compression-Airway-Breathing) เนื่องจากการกดหน้าอกก่อนจะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนสำคัญ เช่น หัวใจและสมอง โดยวิธีปฏิบัติคือ
กดหน้าอก (C) 30 ครั้ง >> เปิดทางเดินหายใจ (A) >> ช่วยหายใจ (B) 2 ครั้ง = 30 : 2
ทั้งนี้ให้ทำ CPR ไปจนกว่ากู้ชีพจะมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว
ลองมาดูวิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอน
C : Chest compression คือการกดหน้าอก ปั๊มหัวใจช่วยให้ผู้บาดเจ็บมีการไหลเวียนของเลือดในร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้หลักในการปั๊มหัวใจ คือ ต้องกดให้กระดูกหน้าอก (Sternum) ลงไปชิดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้หัวใจที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้งสองอันถูกกดไปด้วย ทำให้มีการบีบเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย เสมือนการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งมีขั้นตอนในการปั๊มหัวใจตามนี้
1. ให้ผู้บาดเจ็บนอนราบกับพื้นแข็ง ๆ หรือใช้ไม้กระดานรองที่หลังของผู้บาดเจ็บ ผู้ปฐมพยาบาลคุกเข่าลงข้างขวาหรือข้างซ้ายบริเวณหน้าอกผู้บาดเจ็บ คลำหาส่วนล่างสุดของกระดูกอกที่ต่อกับกระดูกซี่โครง โดยใช้นิ้วสัมผัสชายโครงไล่ขึ้นมา (หากคุกเข่าข้างขวาใช้มือขวาคลำเพื่อหากระดูกอก แต่หากคุกเข่าข้างซ้ายให้ใช้มือซ้ายคลำ)
2. วางนิ้วชี้และนิ้วกลางตรงตำแหน่งที่กระดูกซี่โครงต่อกับกระดูกอกส่วนล่างสุด วางสันมืออีกข้างบนตำแหน่งถัดจากนิ้วชี้และนิ้วกลางนั้น ซึ่งตำแหน่งของสันมือที่วางอยู่บนกระดูกหน้าอกนี้จะเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องในการปั๊มหัวใจต่อไป
* หากไม่แน่ใจว่าตำแหน่งกระดูกซี่โครงอยู่ตรงไหน ง่ายที่สุดก็คือ ให้วางส้นมือ (ข้างที่ไม่ถนัด) ตรงกลางหน้าอก ระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง
3. วางมืออีกข้าง (ควรเป็นมือข้างที่ถนัด) ทับลงบนหลังมือที่วางในตำแหน่งที่ถูกต้อง แล้วเหยียดนิ้วมือตรง จากนั้นเกี่ยวนิ้วมือทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกัน เหยียดแขนตรง โน้มตัวตั้งฉากกับหน้าอกผู้บาดเจ็บ ทิ้งน้ำหนักลงบนแขนขณะกดหน้าอกผู้บาดเจ็บ กดให้ลึกอย่างน้อย 2 นิ้ว (5 เซนติเมตร) สำหรับผู้ใหญ่
แต่หากเป็นเด็กให้กดลงอย่างน้อย 1/3 ของความลึกทรวงอก (ประมาณ 2 นิ้ว หรือ 5 เซนติเมตร) ส่วนในเด็กแรกเกิดหรือเด็กอ่อน การปั๊มหัวใจให้ใช้เพียงนิ้วหัวแม่มือกดกลางกระดูกหน้าอกให้ได้อัตราเร็ว 100–120 ครั้งต่อนาที โดยใช้นิ้วมือโอบรอบทรวงอกสองข้างแล้วใช้หัวแม่มือกด
4. เพื่อให้ช่วงเวลาการกดแต่ละครั้งคงที่ และจังหวะการสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจพอเหมาะกับที่ร่างกายต้องการ ให้ใช้วิธีนับจำนวนครั้งที่กด ดังนี้...หนึ่ง และสอง และสาม และสี่ และห้า...โดยกดทุกครั้งที่นับตัวเลข และปล่อยตอนคำว่า “และ” สลับกันไป ให้ได้อัตราการกดอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที (ถ้าน้อยกว่านี้จะไม่ได้ผล)
เมื่อกดสุดให้ผ่อนมือขึ้นโดยที่ตำแหน่งมือไม่ต้องเลื่อนไปจากจุดที่กำหนด และก่อนการกดหน้าอกครั้งต่อไปต้องทำการกดทันทีที่หน้าอกคืนตัวกลับจนสุด ขณะกดหน้าอกปั๊มหัวใจ ห้ามใช้นิ้วมือกดลงบนกระดูกซี่โครงผู้บาดเจ็บ
5. ควรกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการผายปอด 2 ครั้ง และควรมีผู้ช่วยเหลืออย่างน้อย 2 คน เพราะพบว่า ผู้ปฏิบัติจะเริ่มเหนื่อยและประสิทธิภาพในการกดหน้าอกลดลงหลังจากทำไปประมาณ 1 นาที ดังนั้นในกรณีมีผู้ช่วยเหลืออย่างน้อย 2 คน ให้เปลี่ยนบทบาทผู้ทำการกดหน้าอกทุก ๆ 2 นาที หรือกดหน้าอกสลับการช่วยหายใจครบ 5 รอบ (30:2) และทำต่อเนื่องไปจนกระทั่งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจมาถึง และพร้อมใช้งาน หรือมีบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาดูแลผู้ป่วย
ข้อควรระวัง
- ต้องวางมือให้อยู่ตรงกลางหน้าอก ไม่ต้องค่อนไปทางซ้าย หรือใกล้หัวใจ เพราะอาจทำให้กระดูกซี่โครงหักได้
- ต้องกดหน้าอกให้เร็วและแรง แต่อย่ากระแทก ด้วยอัตราความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที
- กดลึกอย่างน้อย 2 นิ้ว หรือ 5 เซนติเมตร สำหรับผู้ใหญ่
- หลังการกดแต่ละครั้งต้องปล่อยให้อกคืนตัวจนสุด เพื่อให้หัวใจรับเลือดสำหรับสูบฉีดครั้งต่อไป หากไม่ปล่อยให้หน้าอกคืนตัวจนสุด จะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง
- กดหน้าอกให้ต่อเนื่องให้ได้มากที่สุด โดยสามารถหยุดการกดหน้าอกได้ไม่เกิน 10 วินาที ในกรณีคลำหาชีพจร, มีการช็อกไฟฟ้าหัวใจ, ต้องการหยุดเพื่อใส่อุปกรณ์เปิดทางเดินหายใจขั้นสูง (ในกรณีที่ใส่ในขณะกดหน้าอกไม่ได้)
- ไม่ควรใช้วิธีช่วยหายใจมากเกินไป
- บุคคลทั่วไปที่ไม่เคยเข้ารับการอบรมการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานมาก่อน ควรทำการกดหน้าอกแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องช่วยหายใจ เนื่องจากในช่วงแรกที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ระดับออกซิเจนในกระแสเลือดยังเพียงพออยู่อีกระยะหนึ่ง และในขณะที่มีการกดหน้าอกนั้นการขยายของทรวงอกจะทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ โดยเน้นให้กดหน้าอกที่แรงและเร็ว ผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิตควรจะทำการกดหน้าอกแต่เพียงอย่างเดียวต่อไปจนกระทั่งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจมาถึงและพร้อมใช้งาน หรือมีบุคลากรทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วย
A : Airway หมายถึง การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง เพราะโดยมากผู้บาดเจ็บที่หมดสติจะมีภาวะโคนลิ้นและกล่องเสียงตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบน ดังนั้นจึงต้องเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยพิจารณาจาก
- หากผู้ป่วยไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ จะใช้วิธีการแหงนหน้าและเชยคาง (Head tilt - Chin lift)
- หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บของไขสันหลัง ให้ใช้วิธี Manual Spinal Motion Restriction โดยการวางมือสองข้างบริเวณด้านข้างของศีรษะ เพื่อป้องกันการเคลื่อนของศีรษะ
- หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังบริเวณคอให้เปิดทางเดินหายใจด้วยวิธียกขากรรไกร (Jaw Thrust) คือ ดึงขากรรไกรทั้งสองข้างขึ้นไปด้านบน โดยผู้ช่วยเหลือจะอยู่เหนือศีรษะของผู้ป่วย
B : Breathing หมายถึง การช่วยหายใจ ด้วยการรักษาระดับออกซิเจนให้เพียงพอและขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นในผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเนื่องจากการขาดอากาศ เช่น จมน้ำ จึงต้องรีบกดหน้าอกและช่วยหายใจ 5 รอบ หรือ 2 นาที ก่อนการร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ป่วยกำลังมีระดับออกซิเจนที่ตำกว่าปกติ ซึ่งออกซิเจนที่เป่าออกไปนั้นมีออกซิเจนประมาณ 16-17% ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในร่างกาย
ทั้งนี้ ในการช่วยหายใจ ได้กำหนดข้อปฏิบัติให้เริ่มจากการกดหน้าอก (C) ไปก่อน 30 ครั้ง แล้วจึงสลับกับการช่วยหายใจ (B) 2 ครั้ง ตามสูตร 30:2 โดย
- ช่วยหายใจมากกว่า 1 วินาทีในแต่ละครั้ง
- ให้ปริมาตรเพียงพอที่เห็นหน้าอกเคลื่อนไหว แต่ไม่ควรช่วยหายใจมากเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร และยังทำให้แรงดันภายในทรวงอกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เลือดที่กลับไปเลี้ยงหัวใจลดลง
- ใช้อัตราการกดหน้าอก 30 ครั้งต่อการช่วยหายใจ 2 ครั้ง (30:2)
- เมื่อมีการใส่ท่อช่วยหายใจขั้นสูงแล้ว ให้ช่วยหายใจ 1 ครั้ง ทุก 6-8 วินาที (8-10 ครั้งต่อนาที) โดยที่ไม่ต้องหยุดขณะที่ทำการกดหน้าอก
วิธีช่วยหายใจ มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น
- การช่วยหายใจแบบปากต่อปาก (Mouth-to-Mouth) ผู้ช่วยเหลือสูดลมเข้าให้เต็มที่ แล้วประกบปากของผู้ช่วยเหลือเข้ากับปากของผู้ป่วยให้สนิท ใช้นิ้วบีบจมูก ทำการสูดลมเข้าปอดด้วยปริมาตรเท่าปกติ โดยเป่าลากยาวนานกว่า 1 วินาที ในขณะเป่าลม ควรใช้ตาชำเลืองดูบริเวณทรวงอกของผู้ป่วยว่ามีการขยับหรือไม่ เพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพของการช่วยหายใจ หากผู้ป่วยมีชีพจร แต่ต้องการการช่วยหายใจ ให้ทำการช่วยหายใจในอัตรา 5-6 วินาทีต่อครั้ง (10-12 ครั้งต่อนาที)
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องสูดลมเข้าสุดเพื่อป้องกันการเกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะของผู้ช่วยเหลือ และป้องกันภาวะ overinflation ของผู้ป่วย
- การช่วยหายใจแบบปากต่อจมูก (Mouth-to-Nose) ในกรณีที่ผู้บาดเจ็บมีอาการบาดเจ็บที่ปาก หรือในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก ให้ใช้วิธีปิดปากผู้บาดเจ็บแล้วปล่อยลมหายใจของเราเข้าทางจมูกผู้บาดเจ็บแทน โดยให้ทำการช่วยหายใจในอัตรา 5-6 วินาทีต่อครั้ง (10-12 ครั้งต่อนาที)
- การช่วยหายใจโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจขั้นสูง (Advanced Airway) ในกรณีที่ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจขั้นสูงแล้ว แนะนำให้ช่วยหายใจในอัตรา 1 ครั้งทุก ๆ 6-8 วินาที (8-10 ครั้งต่อนาที)
ทั้งนี้ ให้ผู้ช่วยเหลือทำขั้นตอน C-A-B ไปเรื่อย ๆ จนกว่าหน่วยกู้ชีพมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนอง
และหากสถานที่นั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ AED ให้ร้องขอเพื่อนำมาใช้ เพราะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นได้ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการใช้เครื่องเออีดี
สรุปขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน
ขอสรุปย้ำถึงขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานไว้อีกครั้งแบบเข้าใจง่าย โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แนะนำไว้ 7 ข้อดังภาพนี้
ทั้งนี้ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งก็ควรต้องช่วยเหลือเขาอย่างระมัดระวัง และหากมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้อยู่ก็ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก่อนนะคะ เพราะหากช่วยผิดวิธีอาจทำให้หัวใจช้ำ กระดูกหัก รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ ตกเลือดได้ และขอเตือนอีกอย่างว่าอย่าลองไปทำ CPR กับคนที่ไม่มีอาการบาดเจ็บหรือหมดสติ โดยเฉพาะการปั๊มหัวใจ เพราะอาจทำให้จังหวะหัวใจของคนที่โดนปั๊มเต้นผิดจังหวะไป ซึ่งอาจส่งผลด้านสุขภาพต่อไปได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
kapook.com
: 2018-01-16 : Admin 71332